วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

เรียงความเรื่อง ปัญหาการศึกษาไทยกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิก




เรียงความเรื่อง ปัญหาการศึกษาไทยกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิก


                ถ้าเรามองการเรียนการสอนจากอดีตก่อนที่จะมีระบบโรงเรียน สมัยก่อนนั้นพ่อแม่จะเป็น "ครู" ผู้สั่งสอนลูก โดยมุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง พ่อแม่มีอาชีพอย่างไรก็มักสั่งสอนอาชีพนั้นแก่ลูกของตนเอง เช่น พ่อแม่มีอาชีพเกษตรกรก็สอนอาชีพนั้นแก่ลูกๆ เพื่อที่ลูกๆจะได้มีทักษะอาชีพติดตัวไปทำมาหากินในอนาคต ในการสอนอาชีพก็คอยแนะนำทักษะต่างๆให้กับลูกโดยใกล้ชิด ส่วนลูกก็ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ภายใต้สภาพแวดล้อมจริงที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และเมื่อมีปัญหาก็จะให้คำแนะนำกับลูกเป็นรายบุคคล หรือนำลูกไปฝากไว้ที่วัดหรือสำนักต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนสรรพวิชาต่างๆแล้วก็ยังมีการปลูกฝังคุณธรรมไปในตัวด้วย
                      ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มมีระบบโรงเรียน โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อเตรียมคนเป็นข้าราชการ ตั้งแต่นั้นมาชาวไทยก็ถือว่าการศึกษาเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองหรือบุตรธิดาให้สูงขึ้น ชาวไทยมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษามาก พ่อแม่พยายามที่จะส่งลูกๆให้เข้าในระบบโรงเรียนและส่งเสียให้ได้เรียนสูงๆ เมื่อเริ่มมีระบบโรงเรียนนักการศึกษาในสมัยนั้นก็รับแนวคิดการจัดหลักสูตรตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาของไทย การสอนได้เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมที่มุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จากเดิมมีครูสอนลูกศิษย์เพียง 2 - 3 คน เปลี่ยนมาเป็นการสอนที่มีครูยืนอยู่หน้าชั้นเรียนให้นักเรียน 30 - 50 คนนั่งฟังภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยมและคอยจดตามคำสอน กลายเป็นภาพที่ติดแน่นมาจนถึงปัจจุบันอย่างยากที่จะลบเลือน 
                          ในบรรยากาศการเรียนการสอนที่เน้นให้ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้วยความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่าครูจะต้องมีความรู้ดีกว่านักเรียน การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะครูถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ส่วนผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้จากครู ในขณะที่ครูส่วนใหญ่มีความคิดที่ว่าจะต้องถ่ายทอดเนื้อหาให้กับผู้เรียนให้มากที่สุดเพราะเนื้อหาที่สอนนั้นมีประโยชน์กับตัวผู้เรียน ดังนั้นบรรยากาศการเรียนการสอนที่เราพบส่วนใหญ่ ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทอยู่ตลอดเวลา(เป็นพระเอกหรือนางเอก) นักเรียนไม่มีโอกาสได้พูดและแสดงความคิดเห็นเท่าใดนัก(เป็นตัวประกอบ) ผลจึงปรากฏว่า เมื่อนักเรียนเติบใหญ่ขึ้น จึงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อชุมชน บางคนกล้าแต่ไม่รู้จักแสดงความคิดเห็น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องมีการฝึกฝน และควรจะมีการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ใช่เติบใหญ่ขึ้นมาแล้วจะกล้าแสดงความคิดเห็นโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางที่ถ่ายทอดเนื้อหาให้นักเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะผู้เรียนมีโอกาสได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองน้อยมาก เรื่องนี้ครูหลายท่านอาจจะมีประสบการณ์คล้ายๆกัน คือ พบว่านักศึกษาที่เรียนถึงระดับอุดมศึกษา แต่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่ได้    บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ครูต้องสอนเนื้อหาให้ทันตามหลักสูตรซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย เนื้อหาบางส่วนเปรียบเสมือน"ขยะ" คือ เนื้อหาที่ไม่มีความจำเป็นต่อหรือสัมพันธ์ต่อชีวิตของนักเรียน แต่ด้วยหน้าที่ ทำให้ครูหลายๆท่านต้องพยายามสอนเนื้อหาให้ทัน เปรียบเสมือนการ"กรอก"ความรู้ให้กับนักเรียนโดยไม่ตั้งใจ จากปัญหานี้ ทำให้ครูต้องรีบเร่งจนไม่มีเวลาที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม(กิจกรรมในห้องเรียน) เมื่อไม่มีการทำงานเป็นกลุ่มทำให้ขาดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และยังขาดความเคารพตนเองและคนอื่น ผลจึงปรากฏว่า คนไทยส่วนใหญ่ทำงานร่วมกันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ   นอกจากนี้จะเห็นว่าผลผลิตทางการศึกษาของเราส่วนใหญ่ขาดความคิดในการพัฒนาและขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเรียนการสอนที่ครูเป็นผู้ป้อนความรู้อย่างเดียวแถมยังตีกรอบให้ปฏิบัติตาม ทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสในการคิดแสวงหาแนวทางอื่นๆนอกเหนือจากที่ครูป้อนให้

 ปัญหาการศึกษาไทยกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิก
                       “คอมพิวเตอร์” กลายเป็นสื่อหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม อีกอย่างหนึ่งสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมมีผลเสียแอบแฝง “สื่อที่อยู่ในแท็บเล็ต มีการเคลื่อนไหว แตกต่างจากหนังสือ ดังนั้นแท็บเล็ตจะช่วยเติมเต็ม กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างความสนุกสนาน กระบวนการคิด การศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมให้แก่เด็กได้ ยิ่งเด็ก ป.1 เป็นวัยที่มีความตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง การให้เด็กอ่านหนังสือดูภาพ อาจทำให้เบื่อหน่าย การได้เห็นภาพคลื่อนไหวจะช่วยให้มีความสุข และอยากเรียนรู้มากขึ้น แต่การใช้แท็บเล็ตในการเรียนไม่ควรเกิน 20 นาที ใน 1 คาบเรียน เพราะอาจจะทำให้เด็กไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ฝึกเขียน”   การแจกแท็บเล็ตนั้น เท่าที่ได้ศึกษามาจะเห็นว่า ส่วนใหญ่ควรนำไปแจกเด็กที่มีวุฒิภาวะและเป็นวัยที่กระตือรือร้น ในการฝึกทักษะเสาะแสวงหาข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่นำแท็บเล็ตมาแจกเด็ก ป.1 ซึ่งเป็นวัยที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฉะนั้นเด็กเหล่านี้จะไปเสาะแสวงหาข้อมูลได้อย่างไร อีกทั้ง เมื่อเด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากๆ สังคมรอบตัวเด็กจะอ่อนแอลง ทั้งสังคมที่เป็นธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของมนุษย์จะหายไปจากตัวเด็ก แต่กลับกันสังคมจะมีเด็กที่อ่อนแอมากขึ้น และเกรงว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่แฝงไปด้วยความรุนแรง การแข่งขันและความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการฝึกเขียน ฝึกอ่าน และใฝ่หาความรู้ตามตำรับตำรา ให้ถูกถ่ายจากหน้าหนังสือเรียนมาเป็นหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ วุฒิภาวะสำหรับเด็กอายุ 6 – 7 ขวบนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือ...ที่จะใช้แท็บเล็ตไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เพราะอย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ ไม่ต่างอะไรกับ “แก้วเปล่า” ที่ รอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ รอบตัวมาเติมให้เต็มแก้ว ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา อยากเสพสื่อที่รุนแรง สื่อที่ยั่วยุทางเพศเข้าไป นั่นหมายถึง “หายนะ” สำหรับเด็กที่เป็นรากฐานของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน เป็นห่วงวุฒิภาวะของเด็ก ป.1 ในการหาความรู้นอกตำราเรียนจาก “โลกออนไลน์” โดยเฉพาะ “ภูมิคุ้มกัน” ของเด็กต่างจังหวัด ที่อาจจะรู้ไม่เท่าทันสิ่งยั่วยุเท่ากับเด็กในเมืองมัน ซึ่งมีปัญหากระทบไปถึงครูผู้สอน  การสอนของครูจำเป็นต้องพึ่งช่างเทคนิคมาช่วย เพราะยังขาดความชำนาญในการใช้แม้จะมีการฝึกอบรมไปแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาติดขัดระหว่างการสอนครูยังไม่สามารถแก้ไขได้ สุดท้ายต้องวางแท็บเล็ตแล้วกลับไปใช้หนังสือมาสอนดังเดิมเพราะส่วนใหญ่ครูผู้สอนจะใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยจะถนัด ปัญหาอีกอย่างหนึ่งตามมาคือเด็กสนแต่แท็บเล็ตไม่มีเวลาที่จะเป็นส่วนตัวและสุขภาพจะไม่ดีตามมาจึงเกิดผลกระทบหลายๆด้าน